คุณกำลังมองหาอะไร?

ถ่า

ถ่ายทำถอดบทเรียนการดำเนินงานการส่งเสริมสุขภาพด้านอนามัยแม่และเด็ก จ.กระบี่

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

21.05.2565
1
0
แชร์
21
พ.ค.
2565

วันที่ 10 – 12 พฤษภาคม 2565 ศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน และถ่ายทำกิจกรรมการดำเนินงาน ตามประเด็นการส่งเสริมสุขภาพด้านอนามัยแม่และเด็ก โดยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์สมบูรณ์ บุญกิตติชัยพันธ์ รักษาการแทน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมถอดบทเรียนการดำเนินงานในครั้งนี้ด้วย
จังหวัดกระบี่ มีการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพด้านอนามัยแม่และเด็ก โดยผู้บริหารได้กำหนดให้เป็นนโยบายสำคัญของจังหวัด มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยใช้กลไกระบบสุขภาพอำเภอ (DHS), คณะกรรมการ MCH Board ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ, และคณะกรรมการเด็กปฐมวัยจังหวัดกระบี่ โดยมีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) ทำหน้าที่เลขานุการ ขับเคลื่อนงานร่วมกัน 6 กระทรวงหลัก ซึ่งมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ในส่วนกระบวนการดำเนินงานของจังหวัดกระบี่ มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อปี เพื่อชี้แจงนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน มีการจัดทำแผนปฏิบัติราชการร่วมกันทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ รวมถึงการถ่ายทอดแผนลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ มีการจัดบริการที่ได้มาตรฐาน ได้แก่ คลินิกฝากครรภ์คุณภาพ ห้องคลอดคุณภาพ และคลินิกสุขภาพเด็กดีคุณภาพ เป็นต้น มีการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ผ่านโครงการมหัศจรรย์ 1000 วันแรกของชีวิต ซึ่งกำหนดให้มีตำบล นำร่อง อำเภอละ 1 ตำบล ครอบคลุมทั้ง 8 อำเภอ รวมถึงส่งเสริมให้สถานพัฒนาเด็กเล็ก ดำเนินตามมาตรฐาน 4D ได้แก่ ด้านโภชนาการและการเจริญเติบโต ด้านพัฒนาการ ด้านทันตสุขภาพ และด้านการป้องกันโรค เป็นต้น ทั้งนี้ จังหวัดได้มีการลงพื้นที่เยี่ยมเสริมพลัง ถอดบทเรียน ปัญหาอุปสรรค และปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินงาน มีการกำกับติดตามข้อมูลผลการดำเนินงานในระดับอำเภออย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับพื้นที่ ซึ่งจุดแข็งของจังหวัดกระบี่ คือ การบริหารจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ Data Xchange ตั้งแต่การนำเข้าข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการนำผลลัพธ์ของข้อมูลไปใช้ประโยชน์และพัฒนาการดำเนินงาน ในส่วนข้อมูลเด็ก 0-5 ปี สามารถดูได้ถึงระดับบุคคล ส่งผลดีในการติดตามเด็กเพื่อมารับการตรวจคัดกรองพัฒนาการตามช่วงวัย ในส่วนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร จังหวัดมีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ ได้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครูผู้ดูแลเด็ก อสม. รวมถึงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 การดำเนินงานด้านพัฒนาการเด็ก ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดบริการเป็นแบบ New Normal โดยเพิ่มวันและเวลาการให้บริการ รักษาระยะห่าง ลดความแออัด การขับเคลื่อนงานโดย อสม.ในพื้นที่ ประสานติดตามเด็กให้ได้รับการตรวจพัฒนาการ รวมถึงการถ่ายคลิปวีดีโอส่งให้เจ้าหน้าที่ประเมินพัฒนาการ และการสื่อสารข้อมูลกับผู้ปกครองผ่านทางกลุ่มไลน์
ผลการดำเนินงานของจังหวัดกระบี่ พบว่ามีการพัฒนามาตรฐานการจัดบริการต่างๆ อยู่ในระดับที่ผ่านเกณฑ์คุณภาพ ได้แก่ คลินิกฝากครรภ์คุณภาพ ห้องคลอดคุณภาพ และคลินิกสุขภาพเด็กดีคุณภาพ ในส่วนผลงานตามตัวชี้วัดที่สำคัญ จังหวัดกระบี่สามารถดำเนินการได้ผ่านเกณฑ์ค่าเป้าหมาย และสูงกว่าภาพรวมระดับเขต เช่น การคัดกรองพัฒนาการเด็ก 0-5 ปี ร้อยละ 86.31 เด็กพัฒนาการพบสงสัยล่าช้า ร้อยละ 33.39 เด็กสงสัยล่าช้าได้รับการติดตาม ร้อยละ 88.15 และเด็กมีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ89.15 ด้านภาวะโภชนาการ เด็กอายุ 0-5 ปี สูงดีสมส่วน ร้อยละ 72.79 เด็กอายุ 5 ปี ส่วนสูงเฉลี่ย เพศชาย 108.84 ซม. เพศหญิง 108.45 ซม. และเด็กอายุ 3 ปี ปราศจากฟันผุ ร้อยละ 89.22 เป็นต้น อีกทั้งยังพบว่า จังหวัดกระบี่ มีต้นแบบการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัยในระดับตำบล คือ ตำบลไสไทย ซึ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันทุกภาคีเครือข่าย ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลไสไทย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไสไทย โรงเรียนไสไทย และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 4 แห่ง รวมถึงภาคีภาคประชาชน เป็นต้น โดยพบว่าผู้บริหารทุกหน่วยงานให้ความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัย ผู้รับผิดชอบงานและครูผู้ดูแลเด็กมีความรู้ความเข้าใจ มีการจัดสรรทรัพยากร เช่นงบประมาณในการสนับสนุนการจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการปรับสถานที่ให้มีความสะอาด และปลอดภัยสำหรับเด็ก รวมถึงการจัดสร้างสระว่ายน้ำ เพื่อสอดคล้องนโยบาย“เด็กไสไทยต้องว่ายน้ำเป็นทุกคน” ทั้งนี้ ในส่วนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีการบริหารจัดการเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง และมีการดำเนินตามมาตรการ Covid Free Setting อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค Covid-19
นอกจากนี้ ปัจจัยความสำเร็จของจังหวัดกระบี่ในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพด้านอนามัยแม่และเด็ก พบว่า ผู้บริหารให้ความสำคัญ มีการกำหนดนโยบายและเป้าหมายที่ชัดเจน ผู้รับผิดชอบและผู้ปฏิบัติงานทุกระดับมีความรู้ความเข้าใจในการทำงาน มีการสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอ มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ รวมถึงระบบบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์การดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

FB>>ถ่ายทำถอดบทเรียนต้นแบบการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็กจ.กระบี https://www.facebook.com/media/set/?vanity=hpc11nakhonsi&set=a.5281211985274675

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน