คุณกำลังมองหาอะไร?

ศู

ศูนย์อนามัยที่ 11 ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

27.02.2567
18
0
แชร์
27
กุมภาพันธ์
2567

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08.30-16.30 น.ตัวแทนกลุ่มพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่น ศูนย์อนามัยที่ 11 ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 จัดโดย กรมอนามัย สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก ดร.นายแพทย์บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ เป็นประธานเปิดการประชุมและรับฟังความคิดเห็น พร้อมด้วย ร.ท.หญิง ณิชารัศม์ ปัญจจิตราพัฒน์ และนางอรอุมา ทางดี หัวหน้ากลุ่มพัฒนาเครือข่ายอนามัยการเจริญพันธุ์
การรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในครั้งนี้ ดร.จุมพล นิติธรางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นวิทยากร มีผู้แทนหน่วยงานเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากมูลนิธิแพธทูเฮลล์ (P2H) ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น พัทลุง เชียงใหม่ กาฬสินธุ์ นนทบุรี ผู้แทนสถานประกอบกิจการ โรงพยาบาล ผู้แทนจากโรงเรียน ผู้แทนจากศูนย์การศึกษาพิเศษ บ้านพักเด็กและเยาวชน พัฒนาสังคม ผู้แทนผู้ปกครองและครูในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี นักกฎหมาย และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ผู้แทนจากศูนย์อนามัยและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งสิ้น 100 คน
จากบังคับใช้พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 เป็นระยะเวลาประมาณ 7-8 ปีที่ผ่านมาพบว่า เกิดผลลัพธ์ในทางปฏิบัติที่ดี ช่วยลดอัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 15-19 ปีและหญิงอายุ 10-14 ปี มีความสอดคล้องระหว่างเป้าประสงค์กับยุทธศาสตร์ และความสอดคล้องระหว่างกลยุทธ์กับเป้าประสงค์เช่นเดียวกัน ซึ่งผลจากการบังคับใช้กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ภายหลังมีการบังคับใช้กฎหมาย คำถามที่ใช้เปิดประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นเริ่มต้นด้วยประเด็น การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตอนนี้ยังคงเป็นปัญหาอยู่หรือไม่ โดยมีการแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วยเสียทุกภาคส่วน อาทิเช่น ผู้แทนจากมูลนิธิแพธทูเฮลล์ (P2H) แลกเปลี่ยนประเด็น อายุที่ไม่สัมพันธ์กัน และกลไกการคุ้มครองสิทธิวัยรุ่น ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น เสนอให้มีการแก้ไขอายุตามพระราชบัญญัติ โดยเสนอให้มีการปรับอายุเป็น 8-25 ปี และเสนอที่ประชุมให้มีการเพิ่มผู้แทนเด็กและเยาวชนในคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัดมากกว่า 2 คนโดยให้เหตุผลว่า ผู้แทนเด็กและเยาวชน 2 คนน้อยไปในการสะท้อนความคิดเห็น ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการเสนอให้เพิ่มระบบการดูแล ช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนโดยให้เพิ่มการช่วยเหลือเป็น 3 ระยะตั้งแต่ ระยะก่อนตั้งครรภ์ ระยะตั้งครรภ์ และระยะหลัง
สำหรับการดำเนินการต่อไป จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น และสังเคราะห์สิ่งที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการประชุมครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ต่อไป

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน