กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
การพัฒนาคู่มือการดำเนินงานโรงเรียนรอบรู้สุขภาพดีมีความสุข ศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสถานการณ์ และความต้องการพัฒนาด้านการส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียน 2) เพื่อพัฒนาคู่มือการดำเนินงานโรงเรียนรอบรู้สุขภาพดี มีความสุข และ3) เพื่อหาประสิทธิภาพของคู่มือการดำเนินงานโรงเรียนรอบรู้สุขภาพดี มีความสุข การศึกษาครั้งนี้ใช้กรอบแนวคิด กระบวนการวิจัยและพัฒนา (The Research and Development) ในการพัฒนาคู่มือการดำเนินงานโรงเรียนรอบรู้สุขภาพดี มีความสุข ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาสถานการณ์การส่งเสริมสุขภาพวัยเรียน และความต้องการพัฒนาด้านการส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียน ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนาคู่มือการดำเนินงานโรงเรียนรอบรู้สุขภาพดี มีความสุข ศูนย์อนามัยที่11 นครศรีธรรมราช ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้คู่มือการดำเนินงานโรงเรียนรอบรู้สุขภาพดี มีความสุข ขั้นตอนที่ 4 การประเมินประสิทธิภาพของการพัฒนาคู่มือการดำเนินงานโรงเรียนรอบรู้สุขภาพดี มีความสุข เก็บข้อมูลโดยใช้การประชุมกลุ่ม แบบประเมินคุณภาพคู่มือ และแบบประเมินประสิทธิภาพและความพึงพอใจต่อคู่มือ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย (Arithmetic Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการวิจัยพบว่า 1) สถานการณ์การส่งเสริมสุขภาพวัยเรียน อยู่ระดับปานกลาง (=3.24 S.D.=0.76) และความต้องการพัฒนาด้านการส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียน อยู่ระดับมาก (=4.38 S.D.=0.62) 2) ผลการพัฒนาคู่มือ มีองค์ประกอบและเนื้อหา 2 ส่วน คือ 1) ส่วนนำของคู่มือ ประกอบด้วย ปก พระบรมราโชวาท คำนำ สารบัญ และ 2) ส่วนสาระสำคัญของคู่มือ มีเนื้อหาประกอบด้วย บทที่ 1 บทนำ บทที่ 2 พัฒนาการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพสู่โรงเรียนรอบรู้สุขภาพดี มีความสุข บทที่ 3 ก้าวสู่โรงเรียนรอบรู้สุขภาพดี มีความสุข บทที่ 4 มาตรฐานโรงเรียนรอบรู้สุขภาพดี มีความสุข บทที่ 5 การดำเนินงานเสริมสร้างความรอบรู้สุขภาพวัยเรียน และภาคผนวก โดยผ่านการประเมินความเหมาะสมด้านองค์ประกอบและเนื้อหา ด้านภาษา และด้านรูปแบบ จากผู้ทรงคุณวุฒิ 8 ท่าน ผลการประเมินความเหมาะสมโดยรวมอยู่ระดับมาก (=4.03, S.D.=0.56) 3) ผลการหาประสิทธิภาพของการพัฒนาคู่มือ จากผู้เกี่ยวข้อง 3 ภาคส่วน ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน/ครูอนามัยโรงเรียน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ที่ผ่านการทดลองใช้คู่มือ ในด้านความเหมาะสม ด้านความเป็นไปได้ ด้านความเป็นประโยชน์ โดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมากที่สุด (=4.64 S.D.=0.60) และระดับความพึงพอใจต่อคู่มือ โดยภาพรวมอยู่ระดับมากที่สุด (= 4.76 S.D.= 0.43)
ข้อเสนอแนะ 1) การพัฒนาคู่มือ ควรมีการพัฒนาบนพื้นฐานสภาพปัญหา และความต้องการของนักเรียน สถานศึกษา และผลักดันให้เป็นนโยบายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติได้ 2) ควรมีการพัฒนาบุคลากร ทั้งภาคส่วนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความพร้อม ความสามารถในเรื่องของการพัฒนาคู่มือ และการจัดการศึกษาควบคู่กับสุขภาพ และมีการติดตาม กำกับ ประเมินผลอย่างต่อเนื่อง 3) ควรมีการเผยแพร่คู่มือ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคการศึกษา และภาคสาธารณสุข เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้เอง ตามแนวทางของคู่มือ 4) ควรวิจัยเพื่อศึกษาติดตามผลการใช้คู่มือในการพัฒนาโรงเรียนรอบรู้สุขภาพดี มีความสุข เพื่อนำมาประเมินและพัฒนาคู่มือให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและสถานศึกษาต่อไป 5) ควรวิจัยเพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทั้งด้านสุขภาพ และด้านการศึกษา ในประเด็นความรอบรู้ที่เกิดขึ้นจากการนำคู่มือแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนรอบรู้ไปปฏิบัติ
คำสำคัญ : โรงเรียนรอบรู้สุขภาพดี มีความสุข
นายวันชัย เยี่ยงกุลเชาว์
ศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช
รวมเล่มงานวิจัยชำนาญการพิเศษ_วันชัย_เยี่ย.pdf |
ขนาดไฟล์ 10MB
ดาวน์โหลด 21 ครั้ง
|
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย |