กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชากรวัยทำงานที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ในพื้นที่ตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกแบบมีเกณฑ์ ได้แก่ เป็นเพศชายหรือเพศหญิง อายุระหว่าง 19-59 ปี มีดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 23.0 กก./ม2 ขึ้นไป จำนวน 35 คน โดยกลุ่มตัวอย่างจะได้รับโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ที่พัฒนาขึ้นโดยประยุกต์แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Belief Model) มาใช้ในการออกแบบโปรแกรม ระยะเวลาการทดลอง 14 สัปดาห์ มีการจัดกิจกรรมทดลอง 2 ครั้ง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามและแบบบันทึกผลองค์ประกอบของร่างกาย วิเคราะห์ข้อมูลด้านประชากร ด้วยสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานการวิจัย ด้วยสถิติ Paired samples t-test
ผลการวิจัยพบว่าภายหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมสุขภาพมากกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) และมีค่าคะแนนเฉลี่ยองค์ประกอบของร่างกายซึ่งประกอบด้วย น้ำหนักตัว เปอร์เซ็นต์ไขมันใต้ผิวหนัง และเปอร์เซ็นต์ไขมันในช่องท้องน้อยกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)
ข้อเสนอแนะจากการวิจัย การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่กลุ่มบุคคลที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ควรเน้นกระตุ้นอารมณ์ให้เกิดความกลัวต่ออันตรายที่จะได้รับหากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการให้กำลังใจเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่
คำสำคัญ: ทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ, พฤติกรรมสุขภาพ, องค์ประกอบของร่างกาย
ภัคจุฑานันท์ สมมุ่ง
ศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช
ผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชากรวัยทำงาน ที่มีภาวะน้ำหนักเกินในพื้นที่ตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช |
ขนาดไฟล์ 91KB
ดาวน์โหลด 7 ครั้ง
|
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย |