คุณกำลังมองหาอะไร?

กา

การศึกษาเปรียบเทียบผลการพัฒนาตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ กรณีศึกษา เขตสุขภาพที่ 11

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

05.07.2567
23
0
แชร์
05
กรกฎาคม
2567

          การวิจัยเรื่องการศึกษาเปรียบเทียบผลการพัฒนาตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่: กรณีศึกษา  เขตสุขภาพที่ 11 เป็นการศึกษาแบบผสานวิธี มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลการพัฒนาตลาดสด     น่าซื้อวิถีใหม่ตามเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ 2) เปรียบเทียบปัจจัยการจัดการของตลาดที่ผ่านเกณฑ์และไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ และ 3) จัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนาตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ ในเขตสุขภาพที่ 11 กลุ่มตัวอย่างเชิงปริมาณ คือ ผู้ประกอบกิจการตลาดหรือผู้จัดการตลาดหรือผู้ค้าในตลาดสดที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 – มีนาคม พ.ศ. 2566 ตลาดที่ผ่านเกณฑ์และไม่ผ่านเกณฑ์จากจังหวัดภูเก็ต และ สุราษฎร์ธานี คำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้โปรแกรม G*Power ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่าง จำนวนกลุ่มละ 60 คน ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.92 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และ Independent t-test กลุ่มเป้าหมายเชิงคุณภาพ คือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ เลือกแบบเจาะจง จำนวน 8 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งมีโครงสร้าง ใช้การวิเคราะห์เนื้อหาในการวิเคราะห์ข้อมูล

          ผลการวิจัย พบว่า ตลาดสดเข้าร่วมโครงการพัฒนาตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ จำนวน 29 แห่ง ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 55.17 ไม่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 44.83 โดยกลุ่มตลาดที่ผ่านเกณฑ์มีผลการดำเนินงานตามเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ร้อยละ 100.00 ตลาดสดไม่ผ่านเกณฑ์มีผลการดำเนินงาน ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล มากที่สุด ร้อยละ 76.92 ผลการเปรียบเทียบปัจจัยการจัดการด้วยแนวคิด McKinsey 7-S Framework พบว่า ด้านกลยุทธ์ ด้านรูปแบบ ด้านทักษะ และด้านค่านิยมร่วม และภาพรวมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ข้อเสนอแนะในการพัฒนา พบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบควรมีนโยบาย จัดสรรงบประมาณ ส่งเสริมให้ใช้ระบบ Food Handler จัดอบรมผู้ประกอบการ พัฒนาสื่อดิจิทัล เพื่อการพัฒนาตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่

ผลการวิเคราะห์ระดับปัจจัยการจัดการของตลาดสดในเขตสุขภาพที่ 11 พบว่า ระดับปัจจัยการจัดการของตลาดสดที่ผ่านเกณฑ์ประเมินตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (= 4.09, S.D.= 0.45) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ปัจจัยการจัดการตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ของ  ตลาดสดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ที่มีระดับความคิดเห็นสูงสุดด้านรูปแบบ อยู่ในระดับมากที่สุด (= 4.24, S.D.= 0.55) ด้านที่มีระดับความคิดเห็นต่ำสุด คือ ด้านการจัดบุคคลเข้าทำงาน และด้านทักษะ (= 3.95, S.D.= 0.59) และผลการวิเคราะห์ระดับปัจจัยการจัดการของตลาดสดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ในเขตสุขภาพที่ 11 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (= 3.70, S.D.= 0.35) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ปัจจัยการจัดการตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ของตลาดสดที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่มีระดับความคิดเห็นเฉลี่ยสูงสุดด้านโครงสร้าง อยู่ในระดับมาก (= 4.13, S.D.= 0.54) ด้านที่มีระดับความคิดเห็นต่ำสุด คือ ด้านค่านิยมร่วม (= 3.11, S.D.= 0.42)

          ผลการเปรียบเทียบปัจจัยการจัดการของตลาดสดที่ผ่านเกณฑ์และไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ในเขตสุขภาพที่ 11 พบว่า ด้านกลยุทธ์ ด้านรูปแบบ ด้านทักษะ และด้านค่านิยมร่วม และภาพรวมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05)

          ข้อเสนอแนะในการพัฒนาตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 11 พบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบควรมีนโยบาย จัดสรรงบประมาณ ส่งเสริมให้ใช้ระบบ Food Handler จัดอบรมผู้ประกอบการ พัฒนาสื่อดิจิทัล เพื่อการพัฒนาตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีการส่งเสริมพัฒนาด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของตลาดสด และด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลของผู้ขาย/ผู้ช่วยขาย โดยคำนึงถึงปัจจัยการจัดการของตลาดสดในการพัฒนาเป็นตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ และการสนับสนุนเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการจากกระทรวงสาธารณสุข

 

คำสำคัญ : ปัจจัยการจัดการตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ / เขตสุขภาพที่ 11 / ตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่

 

นายธราดล ศรีสุข 

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

การศึกษาเปรียบเทียบผลการพัฒนาตลาดสดน่าซื้อวิถีใหม่ กรณีศึกษา เขตสุขภาพที่ 11
ขนาดไฟล์ 3MB
ดาวน์โหลด 4 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน