กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานแบบชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี
ในเครือข่ายสุขภาพศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช
The Quality of life of among patients with type 2 Diabetes Mellitus with Good Glycemic control in Regional Health Promotion center 11 , Nakhon Si Thammarat
นายไพรัช เลขาผล ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
ศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross – sectional descriptive study) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานแบบชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีในเครือข่ายสุขภาพศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยเป็นผู้ป่วยเบาหวานแบบชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีในเครือข่ายสุขภาพศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช ในปีงบประมาณ 2566 (ระหว่าง 1 ตุลาคม 2565 –
30 กันยายน 2566 จำนวน 255 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย (WHOQOL–BREF–THAI) จำนวน 26 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (Reliability) เท่ากับ 0.957 สถิตที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (independent t-test) และ
การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) ผลการวิจัย พบว่า 1) ผู้ป่วยเบาหวานแบบชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีในเครือข่ายสุขภาพศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช มีคุณภาพชีวิตโดยรวม อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 60 เมื่อจำแนกองค์ประกอบรายด้าน พบว่า ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ร้อยละ 54 รองลงมา คือด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และด้านสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 84.31, 67.84, และ 58.82 ตามลำดับ
2) ผลการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานแบบชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีในเครือข่ายสุขภาพศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช พบว่า ผู้ป่วยที่มีเพศต่างกัน อายุต่างกัน อาชีพต่างกัน ความเพียงพอของรายได้ต่อเดือนต่างกัน สถานภาพสมรสต่างกัน และประวัติการเป็นเบาหวานต่างกัน มีคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างกัน จากผลการวิจัยในครั้งนี้ สามารถนำผลการวิจัย
มาประยุกต์ใช้ในการกำหนดรูปแบบการให้บริการเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำข้อมูลมาใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานได้สอดคล้องกับสภาพปัญหา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยเบาหวานในการดำเนินชีวิตเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และสามารถเป็นแนวทางในการนำไปศึกษาวิจัยในประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตทั้งในผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยกลุ่มอื่น
คำสำคัญ : คุณภาพชีวิต ผู้ป่วยเบาหวานแบบชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี
คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานแบบชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี ในเครือข่ายสุขภาพศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช |
ขนาดไฟล์ 259KB
ดาวน์โหลด 1 ครั้ง
|
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย |