การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานคัดกรองสายตานักเรียนชั้นประถมศึกษา เขตสุขภาพที่ 11
DEVELOPMENT A MODEL FOR IMPLEMENTING STUDENT VISION SCREENING
IN PRIMARY SCHOOL OF 11th HEALTH REGION
ปาณิสรา กลั่นนิเวศ
พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนารูปแบบการดำเนินงานคัดกรองสายตานักเรียนชั้นประถมศึกษา เขตสุขภาพที่ 11 ดำเนินการศึกษา 3 ระยะ คือ 1) ศึกษาสถานการณ์และความต้องการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานคัดกรองสายตานักเรียน กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยงข้องกับการดำเนินงาน จำนวน 58 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสัมภาษณ์การสนทนากลุ่มและแบบสอบถามสถานการณ์การดำเนินงาน 2) พัฒนารูปแบบ เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบประเมินความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของรูปแบบ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน และ 3) ศึกษาผลลัพท์ของรูปแบบ เครื่องมือที่ใช้แบบประเมินความรู้และทักษะของครูและบุคลากรสาธารณสุข จำนวน 165 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า 1) สถานการณ์การดำเนินงานการคัดสายตานักเรียนชั้นประถมศึกษา อยู่ระดับน้อย ( x=1.96, S.D.=0.60) และความต้องการพัฒนาการดำเนินงานคัดกรองสายตานักเรียน ภาพรวมอยู่ระดับมาก ( x=4.40, S.D.=0.56) 2) ผลการพัฒนารูปแบบ 6 Re สายตาดีวัยเรียน ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) Retraining : การฝึกอบรม 2) Reaction : การลงมือปฏิบัติ 3) Refer : การส่งต่อ 4) Receive : การได้รับแว่นตา 5) Re follow up : การติดตาม 6) Report : การรายงานผล 3) ผลลัพท์การนำรูปแบบไปทดลองใช้ ผู้เข้าร่วมการทดลองใช้รูปแบบส่วนใหญ่มีความรู้และทักษะอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 80.00) มีความพึงพอใจต่อรูปแบบโดยรวมอยู่ในระดับมาก ( =4.39, S.D.=0.53) ผลการคัดกรองสายตานักเรียนในโรงเรียนนำร่อง มีนักเรียนได้รับการคัดกรองสายตาร้อยละ 76.97 พบปัญหาสายตาผิดปกติร้อยละ 7.03 นักเรียนที่ไปพบจักษุแพทย์ตามการส่งต่อร้อยละ 89.26 และนักเรียนที่ใช้แว่นสายตาอย่างสม่ำเสมอหลังได้รับแว่นสายตาร้อยละ 91.76 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ควรมีการจัดทำแผนภาพรวมเชิงบูรณาการ โครงการเด็กไทยสายตาดีในเขตสุขภาพที่ 11 ในปีต่อๆ ไป
คำสำคัญ : การพัฒนารูปแบบ, คัดกรองสายตานักเรียน, ชั้นประถมศึกษา
* ศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช Email : Kungking.r@hotmail.com