คุณกำลังมองหาอะไร?

ปรแกรมส่งเสริมความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในสตรี ต่อการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจังหวัดนครศรีธรรมราช

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

09.07.2568
0
0
แชร์
09
กรกฎาคม
2568

โปรแกรมส่งเสริมความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในสตรี

ต่อการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจังหวัดนครศรีธรรมราช

 

นางสาวปรียานุช  มณีโชติ

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ศูนย์อนามัยที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช

บทคัดย่อ

          มะเร็งปากมดลูก เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ป่วย เช่น มีอาการปวดท้องและมีเลือดออกทางช่องคลอด แต่มีวิธีป้องกันและควบคุมได้คือการตรวจคัดกรอง เพื่อค้นหาความผิดปกติที่ปากมดลูกก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (Quansi-Experimental Design) แบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังทดลอง (The Pretest Posttest Control Group Design) เพื่อศึกษาระดับความรู้และทัศนคติต่อการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และเปรียบเทียบความรู้และทัศนคติในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของสตรีก่อนและหลังทดลองของกลุ่มทดลอง และหลังทดลอง ของกลุ่มทดลองและกล่มเปรียบเทียบ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ สตรีอายุ ๓๐-๖๐ ปี จำนวน ๕๖ คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ข้อมูลเชิงอนุมาณ ใช้สถิติ t-test และ paired t-test ดำเนินการระหว่าง ธันวาคม ๒๕๖๖-พฤษภาคม ๒๕๖๗

ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองจำนวน ๒๘ คน ส่วนใหญ่ อายุ ๔๐-๕๐ ปี ร้อยละ ๔๒.๘๔ อายุเฉลี่ย ๔๔.๘๒ ปี อายุต่ำสุด ๓๑ ปี อายุสูงสุด ๕๙ ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี และอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ ๒๕.๐๐ สถานภาพสมรส ร้อยละ ๖๐.๗๑ ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผ่านทางอินเตอร์เน็ต/ เว็บไซส์/ ไลน์ ร้อยละ ๕๗.๑๔ เคยตรวจมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ ๕๐.๐๐  กลุ่มเปรียบเทียบ จำนวน ๒๘ คน ส่วนใหญ่อายุ ๔๐-๕๐ ปี  ร้อยละ  ๓๙.๒๙  อายุเฉลี่ย ๔๒.๓๓ ปี อายุต่ำสุด ๓๒ ปี อายุสูงสุด ๕๙ ปี การศึกษาระดับอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ ๒๘.๕๗ สถานภาพสมรส ร้อยละ ๕๗.๑๔ ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผ่านทางอินเตอร์เน็ต/ เว็บไซส์/ ไลน์ ร้อยละ ๖๐.๗๑ เคยตรวจมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ ๕๐.๐๐ จากการศึกษาความรู้และทัศนคติในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกพบว่า ก่อนทดลอง กลุ่มทดลองมีความรู้ ระดับปานกลาง ( = ๑๓.๔๐, S.D = ๖.๖๗) มีทัศนคติต่อการมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อยู่ในระดับมาก ( = 3.92, SD = 0.76) หลังทดลอง พบว่ามีความรู้ระดับมาก (=๑๙.๓๐, S.D = ๔.๘๓)   มีทัศนคติต่อการมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่ในระดับมาก  ( =4.59, SD = 0.56)  จากการเปรียบเทียบความรู้เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูก  พบว่า กลุ่มทดลอง มีคะแนนเฉลี่ยความรู้ หลังทดลองมากกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < ๐.๐๕) และหลังทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้ มากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < ๐.๐๕) จากการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยทัศนคติต่อการมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หลังทดลองพบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยทัศนคติมากกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < ๐.๐๕)  กลุ่มเปรียบเทียบมีคะแนนเฉลี่ยทัศนคติมากกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < ๐.๐๕)  และกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยทัศนคติมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบแต่พบไม่แตกต่างกัน

ข้อเสนอ: บุคลากรสาธารณสุขควรดำเนินการสร้างความรอบรู้สุขภาพเรื่องมะเร็งปากมดลูก เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น และจัดกิจกรรมกลุ่ม  เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ความสำคัญและทัศนคติที่ดีต่อการตรวจมะเร็งปากมดลูก

คำสำคัญ การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก / ส่งเสริมความรู้ / การปรับเปลี่ยนทัศนคติ

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

โปรแกรมส่งเสริมความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในสตรี ต่อการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจังหวัดนครศรีธรรมราช
ขนาดไฟล์ 471KB
ดาวน์โหลด 0 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน