กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
กิจกรรม "นึ่งเฉย" ภัยอันตรายใกล้ตัว
ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆมีความก้าวหน้าไปมาก มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ทั้งในเรื่องของการเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ฯลฯ ส่งผลให้คนเรามีพฤติกรรมนิ่งเฉย หรือ กิจกรรมทางกายที่นิ่งเฉยเป็นส่วนใหญ่ (กิจกรรมทางกายในระดับนิ่งเฉย เช่น นั่งเล่นคอมพิวเตอร์ นั่ง/นอนเล่นแท็บเล็ต นั่งทำงาน นั่งประชุม) ซึ่งพบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมนิ่งเฉยมากถึง 13 ชั่วโมงครึ่ง/วัน เลยทีเดียว (ยังไม่นับรวมเวลานอน) ถ้ารวมเวลานอนแล้วแสดงว่า คนไทยมีกิจกรรมทางกายในระดับนิ่งเฉยรวมแล้วมากถึง 21 ชั่วโมงครึ่ง/วัน ในกรณีที่นอน 8 ชั่วโมง และมีกิจกรรมทางกายในระดับเคลื่อนไหว(เบา ปานกลาง หนัก) เพียง 2 ชั่วโมงครึ่ง/วัน
เราขยับร่างกายไม่แตกต่างอะไรไปจากคนที่เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตเลยทีเดียว โดยธรรมชาติของมนุษย์เรานั้นถ้าลองมองย้อนไปถึงสมัยอดีตกาล จะพบว่า มนุษย์เรานั้นจะมีกิจกรรมที่เคลื่อนไหวแทบจะทั้งวัน เช่น การล่าสัตว์ การปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ทำสวน ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ เข้าป่าหาอาหาร ฯลฯ แต่ด้วยปัจจุบันลักษณะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป สิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น รวมไปถึงการจราจรที่คับคั่ง ย่อมส่งผลทำให้ลักษณะพฤติกรรมของมนุษย์เรานั้นเปลี่ยนไปในลักษณะที่นิ่งเฉยซะเป็นส่วนใหญ่
แน่นอนว่า การมีพฤติกรรมจาก “เคลื่อนไหว” เปลี่ยนไปเป็น “นิ่งเฉย” นั้น ย่อมส่งผลต่อสุขภาพและร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยทีเดียว ทำให้ปัจจุบันมีคนอ้วนมากขึ้น คนน้ำหนักเกินมากขึ้น คนเป็นโรค NCD (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันอุดตัน ฯลฯ) มากขึ้น และแนวโน้มยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากงานวิจัยยังพบว่า คนที่มีกิจกรรมทางกายที่เคลื่อนไหวในระดับปานกลางขึ้นไปเพียงพอนั้นมแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวาน ความดัน หรือโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) น้อยลงกว่าคนที่มีกิจกรรมทางกายนิ่งเฉย 2 – 3 เท่าเลยทีเดียว
มาลองเช็คกันง่ายๆ!!! ถ้า
1. ทุกวันนี้คุณนั่งทำงาน/เรียน/ประชุมอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
2. ทุกวันนี้คุณเลิกงาน/เลิกเรียน แล้วกลับบ้านมานั่ง/นอนดูทีวี เล่นคอมพิวเตอร์ เล่นมือถือ แท็บเล็ต
3. ทุกวันนี้คุณเหนื่อยจากการทำงาน/การเรียน กลับบ้านแล้วอาบน้ำนอนทันที
4. ทุกวันนี้คุณยังไม่ได้เริ่มออกกำลังกาย/มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางสม่ำเสมอ
ถ้าคุณตอบใช่ครบทั้งหมด แน่นอนว่า กิจกรรทางกายของคุณแทบจะแน่นิ่งเลยทีเดียว
แล้วคุณจะ “นิ่งเฉย” กับตัวคุณเองไปอีกนานเท่าไร?
ที่มา : งานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างการสร้างเสริมสุขภาพปี 2555
CDC National Center for Health Statistics, National Health Interview Survey, 2009-2012